ครั่ง

ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่งออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะนิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่าครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง

ในประเทศไทยมีการเลี้ยงครั่งมากทางภาคเหนือตอนบน เช่น ลำปาง ลำพูน น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แพร่ สุโขทัย เป็นต้น และในภาคเหนือตอนล่าง เช่น กำแพงเพชร นครสวรรค์ ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เลย หนองคาย สกลนคร ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีหน่วยงานหลายแห่งให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงครั่งอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อาชีพการเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในอนาคตต่อไป

ซึ่งเป็นครั่งที่ผู้เลี้ยงแกะหรือขุดออกจากกิ่งไม้ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งเหลือแต่เนื้อครั่ง จะมีวัตถุเจือปนอยู่หลายอย่าง เช่น ชัน สีครั่ง ขี้ผึ้ง ซากของแม่ครั่งที่ตาย กิ่งหรือเปลือกไม้ เป็นต้น

เป็นครั่งดิบที่นำมาแยกสิ่งเจือปนออกโดยการตำหรือบดครั่งดิบให้แตกออกเป็นก้อนหยาบ ๆ หลังจากนั้นนำไปร่อนผ่านตระแกรง และนำเอาครั่งที่ได้ไปล้างน้ำ จะได้ครั่งสีแดง ซึ่งจะนำไปย้อมผ้าได้ การล้างครั่งจะล้างจนกระทั่งน้ำใส จึงนำเอาครั่งที่ได้ออกตากในที่ร่มที่มีลมผ่านตลอดเวลา จะได้ครั่งที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 8-13 ก็สามารถจำหน่ายได้ (ครั่งดิบ 100 กิโลกรัม จะผลิตครั่งเม็ดได้ 80กิโลกรัม)

เป็นครั่งที่นำมาจากครั่งดิบและครั่งเม็ด บรรจุในถุงผ้าให้ความร้อน และบิดถุงผ้าให้แน่นเข้าเรื่อย ๆ เนื้อครั่งจะค่อย ๆ ซึมออกจากถุงผ้าใช้มีดหรือวัสดุปาดเนื้อครั่งที่ซึมออกมาใส่บนภาชนะที่อังด้วยความร้อนจากไอน้ำ จะช่วยให้เนื้อครั่งนั้นมีความอ่อนตัว หลังจากนั้นนำเนื้อครั่งที่ได้มาทำการยืดเป็นแผ่นบาง ๆ ในขณะที่ครั่งยังร้อนอยู่แล้วปล่อยให้เย็น จึงหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกว่า “เชลแลค” (ครั่งดิบประมาณ 100 กิโลกรัม หรือครั่งเม็ดประมาณ 85 กิโลกรัม ใช้ทำเชลแลคได้ 65 กิโลกรัม)

หรือ “ครั่งกระดุม” เป็นครั่งที่นำมาหลอดออกทำเป็นแผ่นกลมลักษณะคล้ายกระดุม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว และหนาประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่นิ้ว ครั่งแผ่นมีวิธีทำคล้ายกับเชลแลค แต่ต่างกันที่เมื่อทำการย้ายครั่งที่หลอมละลายดีแล้ว ใช้เหล็กป้ายครั่งซึ่งกำลังร้อน ๆ อยู่ หยอดลงไปบนแผ่นเหล็กหน้าเรียบที่สะอาดและขัดเป็นเงาให้ได้ขนาดที่ต้องการ ทิ้งไว้ให้เย็น จะได้ครั่งแผ่นที่ต้องการ

ปัจจุบันการซื้อขายครั่งได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง มีโรงงานผลิตอุตสาหกรรมครั่งในประเทศไทยประมาณ  20 โรง ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะผลิตครั่งเม็ดเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม และร้านค้าของป่าทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมจะรับซื้อครั่งจากเกษตรกรโดยตรง หรือผ่านคนกลาง ซึ่งมีหน้าที่จัดหาครั่งป้อนโรงงาน สำหรับกรณีที่ปริมาณครั่งไม่มากนักจะมีการซื้อขายกันตามร้านค้าของป่า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะทำการรวบรวมครั่งแล้วนำส่งโรงงานเพื่อแปรสภาพต่อไป

การเลี้ยงครั่งเป็นงานทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในชนบทไม่น้อย เหมาะที่จะเป็นอาชีพเสริม เพราะใช้เวลาในการปฏิบัติงานไม่มากนัก ในปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรอาชีพทำนามีเวลาว่างเหล่านี้มาทำการเลี้ยงครั่งจะเกิดประโยชน์หลายทาง เช่น มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้นไม้ที่สามารถเลี้ยงครั่งได้ในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า30 ชนิด ผลผลิตจากต้นไม้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างอื่นได้อีก และที่สำคัญที่สุด การเลี้ยงครั่งสามารถเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไม่น้อยในแต่ละปี ถึงแม้ราคาครั่งจะไม่แน่นอน แต่หากมีการเลี้ยงสม่ำเสมอมีผลผลิตครั่งทุกปี และใช้ครั่งพันธุ์ของตนเองแล้ว รายได้ก็ยังคุ้มค่ากับเวลาและแรงงานที่ใช้ในการเลี้ยง

การใช้ประโยชน์จากครั่ง

การนำครั่งมาใช้ประโยชน์ในครอบครัวและในทางอุตสาหกรรมได้กระทำมานานแล้วในอดีต โดยใช้สีแดงจากครั่งเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคโลหิตจาก นอกจากนี้ยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหมและหนังสัตว์การใช้ยางครั่งได้มีหลักฐานปรากฏเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว ในระยะแรกมีการนำยางครั่งมาทำให้บริสุทธิ์และนำมาตกแต่งเครื่องใช้ เครื่องเรือนให้สวยงาม ปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัยการใช้ประโยชน์จากยางครั่งมากมาย และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครั่งเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและอื่น ๆ การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ครั่งในปัจจุบันพอสรุปได้ดังนี้

คือ ครั่งแผ่นบาง ๆ หรือเม็ดเล็ก ๆ ที่แยกเอกสารที่ไม่หลอมละลายออกแล้ว เชลแลคที่ดีจะต้องละลายหมดในตัวทำลาย เช่น แอลกอฮอล์ จึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี เชลแลคแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เชลแลคธรรมดา เชลแลคฟอกขาว และเชลแลคปรุงแต่ง การนำเอาเชลแลคมาใช้ประโยชน์ได้เริ่มมานานแล้ว โดยเริ่มจากการตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงาม โดยใช้เชลแลคผสมแอลกอฮอล์ทาพื้นบานประตู หน้าต่าง โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำด้วยไม้มักจะทาและขัดด้วยเชลแลคจนดูเงางาม นอกจากนี้แล้วเชลแลคยังป้องกันความสกปรกเข้าถึงเนื้อไม้และให้ความทนทานแก่เนื้อไม้อีกด้วย ปัจจุบันมีการนำเอาเชลแลคมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมยา มีการนำเชลแลคมาเคลือบยาเม็ดเพื่อป้องกันความชื้นและป้องกันตัวยาทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร
  • อุตสาหกรรมกระดาษ  มีการนำเชลแลคมาใช้เคลือบกระดาษเพื่อช่วยให้แข็งแรงสวยงามป้องกันการเปื้อนสกปรก และใช้เป็นตัวประสานในการผลิตกระดาษสำหรับทำภาชนะบรรจุอาหาร
  • อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ มีการนำเอาเชลแลคมาใช้ในการทำหมึกเขียนชนิดกันน้ำได้มานานแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตหมึกพิมพ์ชนิดใหม่ที่แห้งเร็วกันน้ำได้ และพิมพ์ด้วยเครื่องจักรที่มีความเร็วสูงได้ จึงได้มีการนำเชลแลคมาเป็นส่วนผสมในหมึกพิมพ์ชนิดใหม่นี้ หมึกพิมพ์ที่มีคุณสมบัติแห้งเร็วและกันน้ำได้มีส่วนผสมเชลแลคถึง 6 ส่วน
  • อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เนื่องจากเชลแลคไม่เป็นสื่อไฟฟ้าจึงมีการนำเอามาใช้ในการประสานเชื่อมติดกับวัสดุพวกเชลลูโลส เพื่อทำผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น กระดาษแข็ง นอกจากนี้ยังใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น หลอดไฟ วงจรไฟฟ้า และใช้ในการผลิตแผ่นไมก้า
  • อุตสาหกรรมยาง  ที่เชลแลคเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ การทำรองเท้า วัสดุที่ใช้ปูพื้น เบาะอะไหล่รถยนต์ จากการทดลองเมื่อไม่นานมานี้พบว่าแรงดึง ความยืดหยุ่นและความยาวสูงสุดและความแข็งของยางที่มีเชลแลคผสมอยู่จะทำให้ยางมีอายุการใช้งานดีกว่ายางที่มีส่วนผสมอย่างอื่น

นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเอาเชล2แลคมาใช้อย่างอื่นอีก เช่น เคลือบผิวผลไม้ ทำให้เหี่ยวช้าลงกว่าปกติ ใช้ในการผลิตน้ำยาล้างฟิล์มถ่ายรูป เคลือบลูกกวาด เป็นส่วนประกอบในสารฆ่าเชื้อราสำหรับหนังสือสารฆ่าแมลง ยาทาเล็บ เป็นต้น

การทำสีจากครั่ง

สีจากครั่งได้จากการสกัดน้ำล้างครั่ง โดยสารละลายด่างชนิดอ่อน เช่น โซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต เมื่อแยกเอาส่วนที่ไม่ละลายออกเหลือแต่น้ำครั่งแล้วเอาไปเคี่ยวให้แห้ง ผึ่งและบดเป็นผงนำไปใช้ได้สีจากครั่งนี้ใช้ย้อมผ้าไหม ย้อมขนสัตว์ และใช้ผสมปรุงอาหารและขนม จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า สีจากครั่งไม่เป็นพิษแก่ร่างกายแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าครั่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในชนบทเป็นการส่งเสริมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงานและมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีก  การส่งเสริมการเลี้ยงครั่งจึงควรดำเนินการอย่างจริงจงและต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมครั่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีผลผลิตครั่งป้อนโรงงานตลอดเวลา มิฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล่านี้จะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์สังเคราะห์อย่างอื่นทดแทนครั่ง ตัวอย่างการใช้ครั่งลดลงได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมผลิตแผ่นเสียง ซึ่งเคยใช้ครั่งถึงหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์ครั่งทั้งหมด เดียวนี้ได้ลดลงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลผลิตครั่งที่แน่นอนและคุณภาพสูงจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดอุตสาหกรรมที่เลิกใช้ครั่งหนักกลับมาใช้อีก ซึ่งจะเป็นผลดีแก่เกษตรกรที่เลี้ยงครั่งและเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม